ข่าว


วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2553

KBAC : "ปวดหัว ปวดหัว" เรื่องน่ารู้ (ช่วงแรก)

ในช่วงเวลานี้พวกเราคนไทยหลายๆ ท่านคงรู้สึกตื่นเต้น วิตกกังวล นอนไม่หลับไปกับสถานการณ์บ้านเมืองของเรา ที่กำลังปั่นป่วนอยู่บางท่านอาจจะถึงกับมีอาการเครียดปวดหัวตัวร้อนไปเลยก็เป็นได้ ดังนั้น วันนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับเรื่อง "โรคปวดหัว" ดูเพื่อจะได้รู้ว่าปวดหัวจากสถานการณ์บ้านเมืองหรือปวดหัวจากเรื่องอื่นเพื่อที่จะได้แก้ไขได้ทัน

ความจริง อาการปวดหัว หรือปวดศีรษะนั้นไม่ใช่โรค คือ มันไม่ใช่เป็นจากเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ หรือว่า มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายเป็นแบบหนึ่งแบบใดโดยเฉพาะ แต่มันเป็นเพียงอาการของโรคหลายๆ โรคแตกต่างกัน ซึ่งแต่ละโรคนั้นก็จะวินิจฉัยได้ไม่เหมือนกัน รักษาก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ถ้าแพทย์ท่านใดพบผู้ป่วยที่มาด้วยโรคปวดศีรษะและรักษาเท่าใดก็ไม่หาย ผลสุดท้ายแพทย์ท่านนั้นก็คงจะต้องรู้สึกษปวดศีรษะแทนไม่มากก็น้อย เรียดได้ว่าอ่วมไปด้วยกันทั้งคนไข้และทั้งหมอผู้รักษา ที่เราใช้คำว่าโรค ก็จะให้ดูเป็นแบบชาวบ้านๆ เรียกกันแบบง่ายๆ แต่ทั้งนี้ต้องให้เข้าใจว่า มันไม่ใช่โรคแต่เป็นอาการแสดงของโรคใดโรคหนึ่งเพียงเท่านั้นเอง และแพทย์ผู้รักษาต้องเป็นผู้ที่วินิจฉัยออกมาให้ได้ว่า อาการปวดศีรษะนั้นเกิดจากโรคใดกันแน่จึงจะสามารถรักษาได้ถูกต้อง เพื่อจะได้ไม่ต้องไปปวดหัวร่วมกับคนไข้ไปด้วย

โดยมากแล้วโรคปวดศีรษะส่วนมากมักเป็นโรคง่ายๆ คือ ปวดศีรษะจากความเครียดหรือภาษาอังกฤษเรียกว่า tension headache พวกนี้ อาการที่สำคัญคือ มักจะเริ่มปวดตอนสายๆ เนื่องจากเราจะได้รับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ไม่พึงประสงค์เข้ามาแล้วแก้ไขไม่ได้ กล้ามเนื้อต่างๆ ตามร่างกายก็จะหดเกร็งตัวขึ้น โดยเฉพาะที่บริเวณศีรษะ เราจึงรู้สึกปวดและเรียกมันว่า "ปวดศีรษะ" โดยมากมักปวดที่บริเวณขมับทั้งสองข้างหรือท้ายทอย เมื่อเราเอามือมากดๆ นวดๆ บริเวณที่ปวด จะรู้สึกผ่อนคลายสบายขึ้น เพราะนั่นคือการทำให้กล้ามเนื้อได้ยืดออก อาการปวดที่เกิดจากกล้ามเนื้อเกร็งตัวจึงลดลง ดังนั้น การปวดศีรษะจึงเป็นทั้งการวินิจฉัยและการรักษาไปด้วยในตัว ถ้ายังไม่หาย หรือยังไม่ดีขึ้น อาจจะใช้การประคบด้วยของอุ่นๆ ที่รอบๆ ศีรษะหรือตามด้วยยาแก้ปวดเช่น พาราฯ ก็ได้แต่บางครั้งถ้าเครียดมากๆ เช่น เพิ่งกลับจากประชุมคณะกรรมการต่างๆ หรือดูข่าวการเมืองมากไป เชียร์สีใดสีหนึ่งมากไป ฯลฯ อย่างนี้บางทีวิธีที่กล่าวมาแล้วมักจะเอาไม่อยู่ ก็คงต้องใช้ยาคลายกล้ามเนื้อรับประทานร่วมไปด้วย หรืออาจจะต้องเพิ่มยาคลายเครียดเข้าไปด้วยก็ได้ แต่ยาคลายเครียดจัดเป็นยาที่ต้องห้าม ต้องแพทย์สั่งเท่านั้นจึงมักจะเลี่ยงเป็นยาแก้แพ้ชนิดคลอเฟนิรามินแทน ซึ่งมีคุณสมบัติข้างเคียงคือทำให้ง่วงนอน นำมากินร่วมกันแล้วนอนให้หลับ ส่วนมากก็จะดีขึ้นเอง

สิ่งสำคัญที่จะทำให้ไม่กลับมาเป็นอีกก็คือ ต้องแก้ที่สาเหตุ ถ้าเป็นจากการรับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ดี และเราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลข่าวสารนั้นได้ก็ควรหยุดการรับข้อมูลข่าวสารนั้นๆ เสีย ก็จะเป็นการดีที่สุด


KBAC : รายงาน
จากวารสารสุขสาระ ฉบับที่ 78 เดือน 2553