ข่าว


วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

KBAC : วันที่ "Social network" ปลุกศรัทธามุสลิม ตอนแรก

เหล่าบรรดาสาวกไซเบอร์ นักท่องอินเตอร์เน็ตทั้งหลาย ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เฟซบุ๊ค (facebook.com) ทวิตเตอร์ (twitter.com) ยูทูบ (youtube.com) อีกทั้งบล็อกและเว็บบอร์ดอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งหมดนี้เป็นของเล่นของนักเล่นอินเตอร์เน็ต เป็นสังคมออนไลน์ที่สามารถเข้าไปเขียนหรืออ่านเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างอิสระ และใคๆ ก็ขนานนามเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า "โซเซียลเน็ตเวิร์ก" (Social Network)

ของเล่นเหล่านี้ถูกพัฒนาให้กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทรงพลังมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบทบาททางการเมือง ตัวอย่างเช่น ทักษิณใช้ทวิตเตอร์ในการสื่อสารกับเหล่าบรรดาสาวก นายกอภิสิทธิ์ใช้ทั้งทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คในการสื่อสารกับแฟนคลับ หมอตุลย์ใช้เฟซบุ๊คในการร้างเครือข่ายสนับสนุนการทำงานของนายกภายใต้ชื่อ "มั่นใจคนไทยเกิน 1 ล้านคน ต่อต้านการยุบสภา" นอกจากนี้ประโยชน์ของโซเซียลเน็ตเวิร์กไม่ได้มีไว้สำหรับนักการเมืองเท่านั้น แต่เหล่าบรรดาศิลปินนักร้อง นักแสดง ต่างก็ใช้มันสื่อสารและประชาสัมพันธ์ผลงานตัวเองกับประชาชน อีกทั้งยังมีกลุ่มผู้ประกอบการจำนวนมากเลือกใช้โซเซียลเน็ตเวิร์กทั้งทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คในการประชาสัมพันธ์แคมเปญหรือโปรโมชั่นใหม่ๆ เป็นช่องทางการสื่อสารทางการตลาดอีกช่องทางหนึ่ง ที่สำคัญคือฟรีไม่เสียเงิน จะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ของโซเซียลเน็ตเวิร์กส่วนหนึ่งเท่านั้น

ยังมีคนอีกจำนวนมากที่เลือกใช้โซเซียลเน็ตเวิร์กมาใช้ประโยชน์ต่างๆ นานา แต่ก็ใช่ว่ามันจะให้คุณเพียงอย่างเดียว ได้มีคนจำนวนหนึ่งใช้โซเซียลเน็ตเวิร์กเป็นอาวุธละเมิดและโจมตีคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น ที่เป็นข่าวใหญ่โตที่การจับกุมคนเล่นเฟซบุ๊คที่โพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ทาง ศอฉ. (ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) จึงได้ทำการปิดหน้าเฟซบุ๊คของหน้าเพจนั้นเอาไว้ให้เปิดไม่ได้ และด้วยการใช้งานที่อิสระของโซเซียลเน็ตเวิร์กเหล่านี้ จึงมีผลให้คนจำนวนมากที่มีความเข้าใจในอิสลามผิดๆ รวมทั้งผู้ไม่หวังดี ได้ใช้โซเซียลเน็ตเวิร์กในการปลุกระดมโจมตีให้คนทั่วไปเกลียดชังมุสลิมและใช้เป็นช่องทางในการดูหมิ่นศาสนาและท่านนบีมูฮัมหมัด (ซล.)

ล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ชาวปากีสถานจำนวนมากได้ออกมาเดินประท้วงตามท้องถนน ไม่พอใจเฟซบุ๊คที่เผยแพร่เนื้อหาของชาวตะวันตกกลุ่มหนึ่ง ที่ใช้เฟซบุ๊คเป็นเครื่องมือในการจัดประกวดวาดรูปภาพหมุ่นท่านนบี โดยคนใช้เฟซบุ๊คกลุ่มนี้จัดการประกวดในหัวข้อที่ว่า "วันที่ใครๆ ก็วาดภาพมูฮัมหมัดได้" ชาวตะวันตกกลุ่มนี้อ้างว่า เป็นการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกและได้แรงบันดาลใจจากนักวาดการ์ตูนเสรีชาวอเมริกัน เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อพลังศรัทธาในคนปากีสถานอย่างมากมายมหาศาล นักศึกษาและนักวิชาการอีกทั้งประชาชนรวมตัวกันหลายพันคนชุมนุมเรียกร้องให้คว่ำบาตรเฟซบุ๊คและให้จับกุมผู้เผยแพร่การ์ตูนล้อเลียนนบีมาดำเนินคดี
(อ่านต่อตอนหน้า)


KBAC : รายงาน
ขอบคุณเนื้อหาดีๆ จากหนังสือพิมพ์กัมปงไทย ประจำเดือนยะมาดิลอาเคร-รอยับ