ข่าว


วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

KBAC : วันที่ "Socail Network" ปลุกศรัทธามุสลิมตอนจบ

อย่างไรก็ดี เราคงพึ่งเจ้าของโซเชียลเน็ตเวิร์กให้กระทำต่างๆ ไม่ได้อยู่ดี สิ่งที่ดีที่สุด คือ เราต้องสร้างเกราะคุ้มกันให้สังคมอิสลาม สร้างเกราะคุ้มกันให้กับเยาวชนมุสลิมทุกคน ท่ามกลางการเจริญรุดหน้าของโลกใบนี้ เราคงหนีไม่พ้นที่จะต้องเจอกับการต้องผจญกับคนที่ต่อต้านอิสลามและบิดเบือนอิสลาม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความรู้ศาสนากับลูกๆ หลานๆ ของเรา ซึ่งเป็นความรู้ที่ไม่ใช่แค่เก็บไว้ในสมองว่ารู้ แต่ต้องถูกนำมาปฏิบัติและถูกนำออกมาเผยแพร่ให้บุคคลอื่นๆ ชักชวนกันสู่หนทางแห่งอิสลาม หนทางสู่การตอนแทนแห่งโลกหน้าโลกอาคิเราะห์ ในขณะที่มีคนใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กทำลายล้างคุณธรรมความดี เราก็ต้องใช้มันนี่ละ ซึ่งมันมีประโยชน์อยู่มาก มาใช้ในการเผยแพร่อิสลามที่สวยงาม ดีงาม ถูกต้องสู่คนทั่วโลก เช่น กลุ่มนักวิชาการหรือนักเคลื่อนไหวด้านศาสนาต่างๆ ควรหันมาใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในการดะวะห์ ตับลีฆ เชิญชวนคนทำอะม้าลอิบาดะห์ อาจจะสื่อสารผ่านทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊คก็ได้ ซึ่งจะทำให้เราสื่อสารได้กับคนจำนวนมากดังนั้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นมีผลต่อความคิดของคนในสังคมออนไลน์

ส่วนมันจะสะท้อนหรือชักจูงให้คนคิดเช่นไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ทุกคน และวิจารณญาณในการรับรู้เข้าใจข้อมูลของแต่ละคนที่เข้าไปอ่านหรือเข้าไปเล่น และที่สำคัญที่สุด ทุกอย่างมันมีกรอบ มีขอบเขตของมันในเสรีภาพที่หลายๆ คนกล่าวอ้างนั้น มันก็ต้องไม่ไปละเมิดเสรีภาพคนอื่นเช่นกัน นั่นก็เป็นหน้าที่หลักของเจ้าของที่สร้างเครื่องมือเหล่านี้ขึ้นมาจะต้องตรวจสอบเนื้อหาบนเว็บให้ดี ไม่ใช่ช่วยตรวจสอบแต่กลุ่มธุรกิจเพลงกับหนัง

สิ่งที่เป็นผลประโยชน์อย่างมากอนันต์ ก็ กลับกลายมาเป็นโทษอย่างมหันต์ได้ในพลิบตาเหมือนกัน ความคิดความศรัทธาความเชื่อมั่นเราไม่สามารถสั่งการได้ อยู่ที่ความตระหนักเห็นว่าสิ่งไหนควรเชื่อ สิ่งไหนไม่ควรเชื่อ และเชื่ออย่างมีเหตุมีผลเชื่ออย่างใช้เหตุการณ์ประกอบการคิดใตร่ตรอง คนที่คิดที่ทำอย่างนี้ต่างหาก คือ กลุ่มคนที่ฉลาด

ช่วยกันคนละไม้คนละมือ...ในการสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้ศาสนาอิสลามดำรงอยู่ได้ และจะต้องเจริญต่อไปบนความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง
วัสลาม


KBAC : รายงาน
ขอบคุณเนื้อหาดีๆ จากหนังสือพิมพ์กัมปงไทย ประจำเดือนยะมาดิลอาเคร-รอยับ 1431